ไทยออโต้กลาสได้ฉลองครบรอบ 15 ปี รุกกลยุทธ์ปรับโฉมโชว์รูม-รีแบรนด์โลโก้รูปแบบใหม่ พร้อมให้บริการในไตรมาส 2 ของปี 2553 ชี้ธุรกิจติดตั้งฟิล์มไปได้สวย ตั้งเป้ารายได้โตปีละ 20% เตรียมผุดเพิ่มอีกปีละ 2 สาขา นาย วิโรจน์ อวยศิลป์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยออ โต้กลาส จำกัด ผู้แทนจำหน่ายและติดตั้งกระจกรถยนต์ ฟิล์มกรองแสง และฟิล์มนิรภัย กล่าวว่า ในโอกาสครบรอบ 15 ปี บริษัทฯ ได้มีการปรับโฉมหน้าร้านและการบริการใหม่ โดยเริ่มจากงานบริการทุกส่วนตั้งแต่รถของลูกค้าจอดเทียบหน้าร้าน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานต้อนรับ จุดรับรถเข้าตรวจสภาพ ติดตั้งและเปลี่ยนฟิล์ม หรือกระจกรถยนต์ ส่วนของลูกค้าสัมพันธ์ บัญชีการเงิน บริการหลังการขายและบริการ โดยจะพัฒนาให้เป็นมาตรฐานสากลมากขึ้น ดังนั้นบริษัทฯ จะใช้มาตรฐานที่จะเกิดขึ้น เป็นองค์ประกอบในการขยายสาขาต่อไป
อีกทั้ง ยังได้มีการปรับเปลี่ยนโลโก้ ด้วยเล็งเห็นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งไทยออโต้ฯมีการออกแบบโลโก้ใหม่ขึ้นเพื่อให้เป็นที่สะดุดตาของกลุ่ม ลูกค้าทั้งเก่าและใหม่อีกด้วย สำหรับการบริการในรูปแบบใหม่นี้ จะพร้อมเปิดให้บริการได้ในไตรมาส 2 ของปี พ. ศ. 2553
นอกจากนี้ยังได้มีการจัดกิจกรรมเพื่อตอบแทนลูกค้าที่มาใช้บริการติด ตั้ง-เปลี่ยนกระจกและฟิล์มรถยนต์ โดยรับคูปองเพื่อลุ้นบริการฟรี เมื่อนำมาใช้บริการในรอบถัดไป เพียง 150 คัน รวมมูลค่ากว่า 500,000 บาท ซึ่งจะหมดเขตในวันที่ 31มีนาคม 2553
นาย วิโรจน์ กล่าวอีกว่า ภาพรวมตลาดฟิล์มกระจกรถยนต์ในประเทศไทยนั้นยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องขึ้น ทุกปี เนื่องจากโลกเรากำลังเผชิญปัญหาสภาวะโลกร้อน ซึ่งปัจจุบันปัญหานี้กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในการใช้ชีวิตของมนุษย์ แต่ไทยออโต้ฯกับเล็งเห็นความต้องการของกลุ่มผู้ที่ใช้รถยนต์เพื่อความสะดวก สบายและลดความร้อนจากปัญหาดังกล่าว จึงคาดว่าธุรกิจนี้น่าจะเติบโตขึ้นไปถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ภายในอีก5ปีข้างหน้า ฉะนั้นจึงมั่นใจได้ว่าธุรกิจการให้บริการติดตั้ง-เปลี่ยนฟิล์มและกระจก รถยนต์นั้นต้องมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน
“ ผมมองว่าธุรกิจที่ทำอยู่ปัจจุบันแทบจะไม่มีอัตราการเสี่ยงที่ทำให้ต้องปิด กิจการลง ถึงแม้เศรษฐกิจอาจจะไม่ดีนัก แต่การดำเนินชีวิตของคนเรา จำเป็นต้องใช้รถในการเดินทาง ฉะนั้นผู้คนที่มีรถยนต์เป็นสิ่งอำนวยความสะดวก ในไม่ช้าก็ต้องมาใช้บริการของเรา แม้ว่าบางช่วงรายได้อาจจะลดลงบ้าง แต่เมื่อกำลังการซื้อเกิดขึ้นความจำเป็นในการบริการดังกล่าวก็จะตามมาตาม กำลังทางการเงินของลูกค้า ” นายวิโรจน์ กล่าว
ปัจจุบันบริษัท ไทยออโต้ฯ มีศูนย์ฯ บริการที่เปิดตัวรองรับลูกค้าจำนวน 9 สาขา ได้แก่ สำนักงานใหญ่อยู่ที่สาขารามคำแหง สาขาศรีนครินทร์ สาขารัตนาธิเบศร์ สาขาบางแค สาขาพระราม3 สาขารังสิต สาขาร่มเกล้า-สุวรรณภูมิ สาขาราชพฤกษ์ และสาขารังสิต-นครนายก
นอกจากนี้บริษัท ไทยออโต้ฯ ยังเตรียมที่จะขยายสาขาเพิ่มอีกปีละ 2 สาขา โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นไป จะเน้นไปยังจังหวัดใหญ่ๆ และจังหวัดใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ อย่างไรก็ตามในการขยายสาขาใหม่นี้ เพื่อเป็นการรองรับบริการแก่ลูกค้า แต่ทั้งนี้บริษัทฯ จะทำการศึกษาดูตลาดก่อนเพื่อวิเคราะห์ถึงปัจจัยหลายๆ ด้าน สำหรับสร้างความมั่นใจ ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนเปิดบริการ โดยจะไม่เร่งการเติบโตในส่วนนี้มากเกินไป เพราะต้องการควบคุมในด้านมาตรฐานบริการเป็นสำคัญ โดยคาดว่าจะใช้การลงทุนสาขาละ 2-3 ล้านบาทขึ้นไป ในพื้นที่ประมาณ 400 ตารางเมตร
“ สำหรับสินค้าของบริษัทฯ จะเน้นเฉพาะสินค้าที่มีคุณภาพเท่านั้น และมีกระจกทุกยี่ห้อเตรียมไว้บริการ ในเรื่องการเปลี่ยนกระจก ใช้เวลาเพียง 40 นาที ส่วนการเปลี่ยนฟิล์มทั้งคันจะใช้เวลา ไม่เกิน 2 ชั่วโมง ซึ่งเรามีการรับประกันกระจกแตกให้อีก 6 เดือน และยังมีฟิล์มนิรภัยคุณภาพสูงจากสหรัฐอเมริกาซึ่งสามารถป้องกันหินขนาดใหญ่ ไม่ให้ทะลุรถยนต์ รวมไปถึงการป้องกันรถจากการ ถูกโจรกรรม” นายวิโรจน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม กลุ่มเป้าหมายของบริษัทฯ ยังคงเป็นนักธุรกิจ เจ้าของกิจการ ครอบครัว นักศึกษาจบใหม่ที่กำลังก้าวเข้าสู่การทำงาน ซึ่งมีความพร้อมในการใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะ รวมไปถึงลูกค้าบริษัทประกัน ซึ่งบริษัทฯ มีความแข็งแกร่งในการรองรับบริการกลุ่มนี้เป็นอย่างดี มีบริการรับประกันออนไลน์ที่เปิดให้บริการมากว่า 3 ปี โดยบริษัทฯ ได้ทำงานร่วมกับบริษัทประกันชั้นนำกว่า 50 แห่ง เพื่อให้บริการลูกค้า เช่น บริการเคลมประกันกับบริษัทแม่ แต่ประหยัดเวลาในการเดินทางอย่างมาก เนื่องจากเราจะเป็นตัวประสานงานให้ทั้งหมด โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เพิ่มเติมและสามารรถรับรถที่เรียบร้อยแล้วที่สาขาบริษัทได้เลยทันที
ทั้งนี้บริษัท ไทยออโต้ฯ ได้ตั้งเป้าอัตราการเติบโตไว้ปีละ 20 เปอร์เซ็นต์ จากยอดขายปี 2552 ที่ผ่าน ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 30 – 40 เปอร์เซ็นต์ ของยอดตลาดรวมของผู้ให้บริการติดตั้งฟิล์มและกระจกรถยนต์ ประมาณ 500 ล้านบาท ซึ่งถือว่าอยู่ในอันดับที่ 1 ของตลาดผู้ให้บริการรับติดตั้งเปลี่ยนฟิล์มและกระจกรถยนต์ในประเทศไทย
ศูนย์ฯกสิกร ชี้อุตฯรถยนต์ไทยปีนี้พลิกตัวเป็นบวก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ตลาดรถยนต์ในปัจจุบันและทิศทาง การส่งออกรถยนต์ของไทยในปี 2553 ว่าในปี 2553 นี้คาดว่าปัจจัยบวกต่างๆ ที่เริ่มมีการส่งสัญญาณให้เห็นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2552 จะช่วยกระตุ้นการส่งออกรถยนต์ไทยให้มีแนวโน้มดีขึ้นกว่าปี 2552 ซึ่งปัจจัยบวกต่างๆ ทำให้ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศส่งออกรถยนต์หลักของไทย เช่น ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง และอาเซียน ซึ่งจะส่งผลให้กิจกรรมการผลิตในประเทศเหล่านั้น รวมถึงความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภคฟื้นตัวขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น รถยนต์ ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคลและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์มากขึ้น
อีกปัจจัยหนึ่ง คือ แนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายชนิดที่เพิ่มสูงขึ้นซึ่งประเทศที่เป็นตลาด หลักของการส่งออกรถยนต์ของไทยหลายแห่งพึ่งพารายได้จากการส่งออกสินค้า โภคภัณฑ์สูง เช่น ออสเตรเลียซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็ก โลหะพื้นฐาน และถ่านหิน เป็นต้น ตะวันออกกลางซึ่งเป็นแหล่งส่งออกน้ำมันขนาดใหญ่ อาเซียนที่เป็นแหล่งเพาะปลูกและส่งออกสินค้าเกษตรหลายชนิดของโลก เมื่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆเหล่านี้เพิ่มสูงขึ้น จะส่งผลทำให้รายได้ของประชากรในประเทศเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น ทำให้ความสามารถในการใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นด้วย
ในส่วนการลดภาษีภายใต้กรอบการเปิดเสรีการค้าต่างๆโดยเฉพาะกรอบอาฟต้า ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 โดยรถยนต์เป็นหนึ่งในสินค้าที่จะมีการลดภาษีนำเข้าให้เหลือร้อยละ 0 ทั้งหมดจากเดิมที่ได้มีการลดอัตราภาษีนำเข้าเบื้องต้นไปก่อนหน้านี้แล้ว เหลือประมาณร้อยละ 0 ถึง 5 ในกลุ่มประเทศก่อตั้ง 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และบรูไน ก็อาจเป้นส่วนหนึ่งที่คาดว่าจะเป็นโอกาสให้ไทยสามารถส่งออกไปยังประเทศใน กลุ่มเหล่านี้ได้มากขึ้น
ศูนย์ฯ กสิกรไทย ยังเปิดเผยต่อว่า การเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่เข้าสู่ตลาดโดยเฉพาะรถอีโคคาร์ ซึ่งค่ายรถบางค่ายในไทยมีกำหนดที่จะผลิตและเปิดตัวรถรุ่นนี้เข้าสู่ตลาดในปี 2553 นี้ก็เป็นส่วนที่จะส่งผลทำให้มีโอกาสที่การส่งออกรถอีโคคาร์ไปต่างประเทศ เติบโตได้
โดยรวมแล้วศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ปริมาณการส่งออกรถยนต์ของไทยในปี 2553 จะอยู่ระหว่าง 575,000 ถึง 595,000 คัน หรือขยายตัวร้อยละ 8 ถึง 12 จากที่คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 31 ในปี 2552 โดยยังคงเผชิญกับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ เช่น ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาท แนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ราคาน้ำมัน ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่อาจจะยังคงฉุดรั้งการเติบโตของตลาดอยู่
อย่างไรก็ตามหากไทยสามารถใช้สิทธิประโยชน์จากการลดภาษีภายใต้กรอบอาฟต้าได้ อย่างเต็มที่โดยไม่มีอุปสรรค เช่น การกีดกันการค้าโดยใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี ( Non-Tariff Measures) รูปแบบต่างๆจากประเทศผู้นำเข้า รวมถึงหากการตอบรับของตลาดต่อรถยนต์อีโคคาร์ซึ่งจะเปิดตัวในปี 2553 เป็นไปได้ดีกว่าที่คาด อาจจะผลักดันให้ตลาดเติบโตได้สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ได้ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลทำให้ในปี 2553 ไทยอาจจะสามารถผลิตรถยนต์ได้ใกล้เคียง 1.2 ล้านคัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 15 จากที่คาดว่าจะผลิตได้ประมาณ 1 ล้านคันในปี 2552 อย่างไรก็ตาม แม้ภาวการณ์ผลิตรถยนต์ของไทยจะกลับมาขยายตัวในปี 2553 แต่ทว่าการที่อุตสาหกรรมจะสามารถฟื้นตัวกลับมามีระดับการผลิตเท่ากับก่อน เกิดวิกฤตที่ 1.4 ล้านคันนั้น คาดว่าอาจจะต้องใช้ระยะเวลาถึงประมาณ 3 ปีนับจากนี้
โดย หนังสือพิมพ์ไดนามิคอินดัสตรี้ วันที่ 16-31 มีนาคม 2553